ยูทูบ “Workpoint” ถูกแฮก ส่องวิธีป้องกัน-กู้คืนบัญชี

ส่องวิธีป้องกันและกู้คืนบัญชียูทูบ (YouTube) จากกรณีช่องยูทูบของ Workpoint ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในไทยกว่า 38 ล้านคน

กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อช่องยูทูบ Workpoint Official ในเครือบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จํากัด (มหาชน) ที่มีผู้ติดตามกว่า 38 ล้านคน ถูกแฮกเกอร์ยึดช่อง พร้อมเปลี่ยนชื่อช่องเป็น Tesla และเปลี่ยน URL เป็น https://www.youtube.com/@TeslaOfficially

นอกจากนั้น แฮกเกอร์ยังไลฟ์สดโดยใช้คลิปของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและซีอีโอทวิตเตอร์ ในประเด็นของการลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารของทวิตเตอร์ (ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นคลิปไลฟ์สดจริงหรือเอาเทปสัมภาษณ์ที่เคยออกอากาศแล้วมาเผยแพร่ใหม่)

เทคโนโลยีสมัยใหม่

ขณะที่ในช่องดังกล่าวก็ไม่ปรากฏคลิปวิดีโอเก่าของ Workpoint เหลืออยู่เลย ซึ่งล่าสุดทางแพลตฟอร์มยูทูบได้แบนช่อง Tesla ปลอมไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการแก้ไขและกู้คืนข้อมูลของช่องเดิม ส่วนสาเหตุของการถูกแฮกช่องยูทูบครั้งนี้เกิดจากอะไร ก็ต้องรอผลการตรวจสอบกันต่อไป

กรณีช่องยูทูบของ Workpoint ถูกแฮก ไม่ใช่กรณีแรกในไทยและเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะช่องที่มีผู้ติดตามหลักแสนคนขึ้นไปซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายของบรรดาแฮกเกอร์หลอกลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี

ข้อมูลจากเว็บไซต์ YouTube ระบุวิธีรักษาความปลอดภัยให้บัญชีของผู้ใช้งานไว้ ดังนี้

1. สร้างรหัสผ่านที่รัดกุมและเก็บไว้เป็นความลับ

รหัสผ่านที่รัดกุมจะช่วยให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณปลอดภัยและป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงบัญชีของคุณได้

  • สร้างรหัสผ่านที่รัดกุมและซับซ้อน: ใช้อักขระตั้งแต่ 8 ตัวขึ้นไป โดยอาจประกอบไปด้วยตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ผสมกันในรูปแบบใดก็ได้
  • ตั้งรหัสผ่านให้แตกต่างกัน: อย่าใช้รหัสผ่านบัญชี YouTube บนเว็บไซต์อื่น หากบัญชีในเว็บไซต์ดังกล่าวถูกแฮก อาจมีคนนำรหัสผ่านไปใช้เพื่อเข้าบัญชี YouTube ของคุณได้

หลีกเลี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลและคำทั่วไป: อย่าใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น วันเกิด คำทั่วไป เช่น “password” หรือรูปแบบทั่วไป เช่น “1234”
นอกจากนี้ ควรตั้งค่ารับการแจ้งเตือนเมื่อคุณป้อนรหัสผ่านในเว็บไซต์ที่ไม่ได้เป็นของ Google โดยการเปิด Password Alert สำหรับ Chrome เช่น คุณจะได้รับการแจ้งเตือนหากป้อนรหัสผ่านในเว็บไซต์ที่แอบอ้างเป็น Google จากนั้นคุณจะทำการเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชี YouTube ได้

ข้อควรระวังสำคัญคือ อย่าให้รหัสผ่านแก่ผู้อื่น YouTube จะไม่ขอรหัสผ่านของคุณทางอีเมล ข้อความ หรือทางโทรศัพท์ รวมถึงจะไม่ส่งฟอร์มที่ขอให้ระบุข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขประจำตัวประชาชน ข้อมูลทางการเงิน หรือรหัสผ่านด้วย

2. ตรวจสอบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

ไปที่หน้าการตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อรับคำแนะนำด้านความปลอดภัยสำหรับบัญชีที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับคุณ และทำตามเคล็ดลับเหล่านี้เพื่อให้บัญชีของคุณปลอดภัยยิ่งขึ้น

  • ใช้หมายเลขโทรศัพท์สำหรับการกู้คืนและอีเมลสำรองเพื่อทำสิ่งต่อไปนี้ได้
  • ป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นใช้บัญชีของคุณโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • แจ้งเตือนคุณหากมีกิจกรรมน่าสงสัยเกิดขึ้นในบัญชี
  • กู้คืนบัญชีในกรณีที่คุณเข้าบัญชีไม่ได้
  • นอกจากนี้ การยืนยันแบบ 2 ขั้นตอนช่วยป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงบัญชีของคุณได้แม้ว่าจะขโมยรหัสผ่านของคุณได้แล้วก็ตาม โดยคุณมีตัวเลือกดังต่อไปนี้

คีย์ความปลอดภัย (ขั้นตอนการยืนยันที่ปลอดภัยที่สุด)
Google Prompt (ปลอดภัยกว่ารหัส SMS)
แอปพลิเคชัน Google Authenticator (รับรหัสโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรืออินเทอร์เน็ตมือถือ)
คีย์ความปลอดภัยเป็นตัวเลือกสำหรับการยืนยันที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากคีย์ดังกล่าวช่วยป้องกันเทคนิคฟิชชิงที่ใช้รหัส SMS

อีกหนึ่งข้อสำคัญคือ หากคุณไม่รู้จักผู้ที่กำลังจัดการบัญชีของคุณ อาจเป็นไปได้ว่าบัญชีถูกแฮกและมีใครบางคนยืนยันการเป็นเจ้าของบัญชีของคุณเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง คุณอาจเปลี่ยนหรือยกเลิกสิทธิ์เข้าถึงของบุคคลดังกล่าวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทบัญชี

3. ป้องกันข้อความและเนื้อหาที่น่าสงสัย

ฟิชชิงคือการที่แฮกเกอร์แฝงตัวเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้เพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลต่อไปนี้

  • ข้อมูลทางการเงิน
  • หมายเลขประจำตัวประชาชน/หมายเลขประกันสังคม
  • หมายเลขบัตรเครดิต
  • ทั้งนี้ แฮกเกอร์อาจแอบอ้างเป็นสถาบัน สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานโดยใช้อีเมล, SMS หรือหน้าเว็บ

YouTube ย้ำว่า ทางแพลตฟอร์มจะไม่ขอรหัสผ่าน อีเมล หรือข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับบัญชีของคุณ อย่าหลงเชื่อหากมีผู้ติดต่อหาคุณและแอบอ้างว่ามาจาก YouTube ขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงคำขอที่น่าสงสัยหรือให้ทำดังต่อไปนี้

  • อย่าตอบอีเมล ข้อความ ข้อความโต้ตอบแบบทันที หน้าเว็บ หรือโทรศัพท์ที่น่าสงสัยที่ขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงิน
  • อย่าคลิกลิงก์ในอีเมล ข้อความ หน้าเว็บ หรือป๊อปอัปจากเว็บไซต์หรือผู้ส่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • อีเมลของ YouTube จะลงท้ายด้วย @youtube.com หรือ @google.com เท่านั้น แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> โตโยต้าเผยข้อมูลผู้ใช้งาน “T-Connect” ราว 296,000 รายอาจรั่วไหล